วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


การผลิตงานกราฟิก งานพื้นฐานสำหรับการผลิตสื่อหลักที่เหมาะสมกับสภาพของชั้นเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้ ได้แก่ งานกราฟิก ส่วนประกอบของงานกราฟิกที่สำคัญ มี 2 อย่าง ได้แก่ ตัวอักษร และรูปภาพ ส่วนที่เป็นรูปภาพมีหลายประเภท เช่น ภาพเหมือนจริง ภาพลายเส้นและภาพการ์ตูน ในการเรียนการสอนนิยมใช้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อเพราะกระตุ้นความสนใจได้ดีโดยเฉพาะในวัยเด็ก ดังนั้นในบทนี้จึงเสนองานกราฟิกที่เป็นภาพการ์ตูนและตัวอักษร
วัสดุที่ใช้ในการผลิตงานกราฟิก
งานกราฟิกเป็นงานที่ใช้ความคิดเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบศิลป์ให้สวยงามเหมาะกับแต่ละงาน แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ สี ดินสอ ปากกา และวัสดุอื่น ๆ
1. กระดาษ
กระดาษเป็นวัสดุเก่าแก่มีมาตั้งแต่โบราณกาลทำจากเยื่อไม้มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณภาพในการใช้งานแตกต่างกันดังนี้
1.1 กระดาษโปสเตอร์ เป็นกระดาษพื้นสีที่มีเยื่อกระดาษไม่เหนียวมากเท่าที่ควรโดยทั่วไปใช้กับงานโฆษณา ป้ายนิเทศ หรือสื่อการสอน กระดาษโปสเตอร์มี 2 ชนิดคือ ชนิดหนามีหน้าเดียว เหมาะกับการเขียนโปสเตอร์ บัตรคำ ทำกล่อง และชนิดบางมี 2 หน้า เหมาะกับงานป้ายนิเทศ การฉีกปะติด การพับเป็นรูปต่าง ๆ เป็นต้น ทั้ง 2 ชนิดใช้กับสีโปสเตอร์ได้ดี
1.2 กระดาษหน้าขาวหลังเทา นิยมเรียกว่า กระดาษเทา- ขาว เหมาะกับการทำบัตรคำ แผนภูมิ แผนภาพ พื้นภาพผนึก กล่องที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก การใช้งานนอกจากเขียนด้วย พู่กันกับสีโปสเตอร์แล้ว ยังสามารถเขียนด้วยปากกาเมจิก ปากกาหมึกซึมให้สวยงามได้ด้วย
1.3 กระดาษวาดเขียน เป็นกระดาษที่มีความหนาหลายขนาด เช่น 80 ปอนด์ 100 ปอนด์เยื่อกระดาษไม่แน่นทำให้ดูดซับน้ำได้ดี เหมาะกับวาดภาพด้วยดินสอ ปากกา และสีน้ำ หากจะวาดสีน้ำนิยมใช้ชนิด 100 ปอนด์ด้านที่มีผิวขรุขระจะได้ภาพสีน้ำที่ซึมไหลสวยงาม
1.4 กระดาษชาร์ทสี เป็นกระดาษที่มีผิวมันเรียบเยื่อกระดาษแน่นกว่ากระดาษโปสเตอร์และกระดาษวาดเขียน โดยทั่วไปเป็นสีอ่อนทั้งสองด้าน เช่น เขียวอ่อน เหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน ชมพูอ่อน เหมาะกับการจัดป้ายนิเทศ ฉีกปะติด ตัดเป็นริ้วยาว พับเป็นรูปทรงต่าง ๆ
1.5 กระดาษอาร์ตมัน เป็นกระดาษที่มีผิวมันเยื่อแน่นเหนียว ไม่ค่อยดูดซับน้ำ พื้นสีขาวความหนามีหลายขนาด เหมาะกับงานพิมพ์ปกหรือภาพประกอบหนังสือ เอกสารที่ต้องความทนทาน ต้นฉบับงานพิมพ์ ถ้าเป็นชนิดหนาสามารถพับเป็นกล่องที่ขนาดไม่ใหญ่มากได้
1.6 กระดาษปอนด์ เป็นกระดาษชนิดบางเยื่อกระดาษไม่แน่น สีขาว ที่ขายในท้องตลาดมักจะเป็น 70 - 80 แกรม นิยมใช้กับงานพิมพ์เอกสารทุกระบบ เช่น งานออฟเซ็ท งานโรเนียว กอปปี้ปริ้นท์ สามารถเขียนด้วยปากกาเมจิก และสีโปสเตอร์ได้ดี แต่ไม่เหมาะกับสีน้ำ
1.7 กระดาษลูกฟูก เป็นกระดาษที่มีลักษณะหนามาก โครงสร้างตรงกลางเป็นลูกฟูกประกบด้านหน้าและด้านหลังด้วยกระดาษผิวเรียบ ทำให้แข็งแรงกว่ากระดาษชนิดอื่นเหมาะกับทำสื่อการสอนประเภทการกล่องหรืองานโครงสร้างรูปร่างรูปทรงที่คงทน
2. สีกายภาพ
2.1 จำแนกตามคุณสมบัติของวัตถุที่ใช้ผสม ได้แก่สีเชื้อน้ำ สีเชื้อน้ำมัน
2.1.1 สีเชื้อน้ำ เป็นสีที่ใช้น้ำเป็นส่วนผสมและล้างทำความสะอาดมีดังนี้
สีน้ำ มีคุณสมบัติบางใส ชนิดเหลวบรรจุในหลอดส่วนชนิดแห้งบรรจุในกล่อง ผสมและล้างด้วยน้ำสะอาดระบายด้วยพู่กัน ใช้ระบายภาพบนกระดาษสีขาวหรือกระดาษวาดเขียน เท่านั้น หากเป็นกระดาษสีหรือกระดาษโปสเตอร์จะเห็นภาพไม่ชัดเจน นอกจาก นี้สีน้ำไม่เหมาะสำหรับเขียนตัวอักษรหรือข้อความเพราะเนื้อสีบางมองไม่ชัดเจน
สีโปสเตอร์ เป็นที่มีเนื้อสีหยาบกว่าสีน้ำ คุณสมบัติเป็นทึบปานกลาง เป็นสีที่ใช้ง่ายเหมาะกับการทำสื่อการสอนได้ดี สามารถทาระบายทับสีเดิมที่แห้งแล้วได้บ้างแต่ไม่สนิทนัก วัสดุเขียนใช้ได้ทั้งพู่กันกลมและพู่กันแบน ใช้เขียนบัตรคำ สื่อโปสเตอร์ ภาพประกอบ แผนภูมิ แผนภาพ แผนสถิติ
สีพลาสติก เป็นสีเชื้อน้ำที่มีเนื้อสีหยาบและเข้มข้นกว่าสีโปสเตอร์ ส่วน ผสมสำคัญคือโพลี ไวนีล อาซิเตท (poly vinyl acetate หรือ PVA) มีคุณ สมบัติเฉพาะคือขณะที่เปียกสามารถละลายหรือล้างทำความสะอาดได้ด้วยน้ำ แต่ถ้าแห้งแล้วไม่สามารถจะล้างให้หลุดออกได้ เป็นสีมีความทนทานต่อแสงแดดและฝน สามารถทาระบายทับสีเดิมที่แห้งแล้วได้สนิท เหมาะกับงานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ เช่น ไม้อัด ผนังปูน ผืนผ้า นิยมทาระบายสีอาคารทั้งภายนอกและภายใน
สีฝุ่น เป็นสีที่มีเนื้อสี (pigment) เป็นผง ราคาถูก การใช้งานต้องผสมกับน้ำกาวโดยการคนหรือกวนให้เข้ากัน ทาระบายกับวัสดุที่เป็นผ้า ไม้อัด ผนังปูน ส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ถาวรนัก เช่น ฉากละคร ฉากเวที คัตเอาท์ เป็นต้น
สีหมึก บางครั้งเรียกว่า หมึกสี มีคุณสมบัติทั้งโปร่งแสงและทึบแสง หมึกที่ใช้ในการเขียนภาพจะบรรจุในขวดเล็ก ๆ หมึกเขียนแผ่นโปร่งใสหรือแผ่นอาซีเตท ส่วนหมึกทึบแสง ได้แก่ หมึกอินเดียนอิงค์ และหมึกดำใช้กับปากกาเขียนแบบ
2.1.2 สีเชื้อน้ำมัน เป็นสีที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมหรือละลายล้างได้มีดังนี้
สีน้ำมันสำหรับเขียนภาพ มีเนื้อสีละเอียด บรรจุในหลอดหลายขนาด ผสมด้วยน้ำมันลินสีด (lin seed) การทำความสะอาดอาจจะล้างด้วยน้ำมันกาดหรือน้ำมันเบนซิน ก็ได้ สามารถเขียนได้กับผ้าใบ ผนังปูน ไม้ สีชนิดนี้มีความทนทานสูง
สีน้ำมันสำหรับทาระบาย ส่วนใหญ่บรรจุในกระป๋องขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ขนาด 0.1 ลิตร จนถึง 18 ลิตร ผสมด้วยทินเนอร์ หรือ น้ำมันสน เหมาะกับการทาระบายวัสดุที่มีพื้นที่กว้าง เช่น ผนังปูน ไม้ฝา รั้ว เฟอร์นิเจอร์ สีชนิดนี้เมื่อแห้งแล้วจะติดทนนานมาก
2.2 จำแนกตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ สีที่ใช้สำหรับเขียนและสีที่ใช้สำหรับ งานพิมพ์
2.2.1 สีที่ใช้สำหรับเขียน เป็นสีที่มีคุณสมบัติข้นเหลว ก่อนใช้งานต้องผสมกับตัวทำละลายให้เหมาะการเขียนได้แก่ สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีพลาสติก สีน้ำมัน สีฝุ่น การใช้งานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของวัสดุ รูปแบบ คุณภาพ และจำนวนชิ้นงาน สีเหล่านี้อาจใช้ในการพ่นก็ได้แต่ต้องผสมตัวทำละลายให้เหลวมากกว่าการเขียน
2.2.2 สีที่ใช้สำหรับงานพิมพ์ มีทั้งสีเชื้อน้ำและสีเชื้อน้ำมัน สีพิมพ์เชื้อน้ำนิยมพิมพ์บนวัสดุที่เป็นผ้าโดยใช้แม่พิมพ์เป็นฉากกั้นแล้วปาดสีผ่านไปยังผ้าที่อยู่ด้านล่าง วิธีนี้ใช้ได้ทั้งสีเชื้อน้ำและสีเชื้อน้ำมัน ส่วนการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์กระทบ กด อัด (press) กับวัสดุรองรับมักจะใช้สีน้ำมันที่มีคุณสมบัติเข้มข้นและแห้งเร็ว
2.3 จำแนกตามคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ สีแห้ง สีฝุ่น สีเหลว หมึกสีและสีของแสง
2.3.1 สีแห้ง มีลักษณะเป็นแท่ง แผ่น ก้อน ได้แก่ สีเทียน สีไม้ สีชอล์ค สีเหล่านี้ใช้ง่ายเหมาะสำหรับผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษา
2.3.2 สีฝุ่น เป็นสีแห้งแต่มีเนื้อสีเป็นผงฝุ่น มีทั้งสีย้อมและสีเขียนทาระบาย สีฝุ่นสำหรับงานเขียนก่อนใช้งานต้องผสมกับน้ำกาวก่อนเสมอ
2.3.3 สีเหลว เป็นสีที่มีเนื้อสีข้นเหลวบรรจุในหลอดหรือกระป๋อง ได้แก่ สีน้ำ สีน้ำมัน สีพลาสติก สีอะไครลิก
2.3.4 หมึกสี เป็นสีที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำบรรจุในขวด นิยมใช้ในการออกแบบเขียนภาพทิวทัศน์ สิ่งประดิษฐ์ และสิ่งก่อสร้าง
2.3.5 สีของแสง หรือที่เรียกว่า สีทางฟิสิกส์ ส่วนใหญ่ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ อิเล็คทรอนิคส์ เช่น งานโทรทัศน์ งานคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
3. วัสดุขีดเขียน วัสดุขีดเขียนที่ใช้ในงานกราฟิกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ วัสดุแข็ง และวัสดุอ่อน
3.1 วัสดุแข็ง ได้แก่ ปากกาและดินสอชนิดต่าง ๆ ดังนี้
3.1.1 ปากกาปลายแหลม ปลายปากทำด้วยโลหะ ใช้จุ่มหมึกเขียนลายเส้นขนาดเล็กมาก เหมาะกับงานต้นแบบลายเส้นที่มีรายละเอียดมาก
3.1.2 ปากกาปลายสักหลาด ปลายปากกาทำด้วยสักหลาดแข็ง มีทั้งชนิดปลายกลมและปลายตัด มีหลายสีบรรจุในกล่องใช้ได้ทั้งงานเขียนภาพและตัวอักษร
3.1.3 ปากกาเขียนแบบ เป็นปากกาคุณภาพดี มีหลายขนาดตั้งแต่เส้นเล็กมากถึงเส้นใหญ่ ใช้กับหมึกที่มีความข้นกว่าหมึกทั่วๆไป
3.1.4 ปากกาเขียนทั่วไป มีทั้งชนิดหมึกน้ำและหมึกเหลว หรือที่เรียกว่า ปากกาลูกลื่นมีขายในท้องตลาดทั่วไป ใช้ในการจดบันทึกและเขียนภาพลายเส้นได้ด้วย
3.1.5 ดินสอดำ ใช้ในงานร่างแบบ เขียนรูป ภาพลายเส้น ภาพแรเงา มีคุณสมบัติเข้มและอ่อนต่างกัน ซึ่งกำหนดเป็นตัวเลขและตัวอักษรไว้ดังนี้
H (Hard) เป็นดินสอที่มีไส้แข็ง สีอ่อนจาง เหมาะกับงานร่างแบบ ความแข็งของไส้ดินสอจะระบุเป็นตัวเลขกำกับไว้ เช่น H, 2H, 3H, 4H เป็นต้น
B (Black) เป็นดินสอที่มีไส้อ่อน สีเข้ม เหมาะกับงานวาดรูปแรเงา ความอ่อนและความเข้มจะเพิ่มขึ้นตามตัวเลข เช่น B, 2B, 3B, 4B, 5B, 6B เป็นต้น
HB เป็นดินสอที่ใช้กันโดยทั่วไป มีความแข็งและความเข้มปานกลาง
3.1.6 ดินสอสี บางทีเรียกว่า สีไม้ มีลักษณะเหมือนดินสอดำทุกประการ แต่ ไส้ดินสอเป็นสีต่าง ๆ ใช้ในการวาดภาพระบายสี หรืองานออกแบบกราฟิกอื่น ๆ ได้สวยงาม
3.1.7 ดินสอเครยอง เป็นดินสอที่มีส่วนผสมของดิน สี และไข ใช้การเขียนภาพระบายสีมากกว่าการเขียนตัวอักษร และใช้เขียนได้ดีบนพื้นกระดาษเท่านั้น
3.1.8 ดินสอถ่าน เป็นดินสอที่มีส่วนผสมของผงถ่านหรือผงฝุ่นสีดำกับกาว ใช้ในการวาดภาพแรเงา เป็นภาพขาว- ดำ
3.2 วัสดุอ่อน ได้แก่ พู่กัน และแปรงทาสี
3.2.1 พู่กัน เป็นวัสดุอเนกประสงค์ในงานกราฟิกหรืองานศิลปะการออกแบบ เละงานจิตรกรรม สามารถใช้ได้ทั้งสีเชื้อน้ำและเชื้อน้ำมัน พู่กันมี 2 แบบ คือ พู่กันกลม ใช้ในการวาดภาพระบายสี ขนปลายพู่กันอ่อนนิ่ม มีหลายขนาดซึ่งกำหนดเป็นเบอร์ เช่น 0, 1, 2, 3, 4, 5,…12 และพู่กันแบน เป็นพู่กันที่มีด้ามยาวใช้ในการเขียนตัวอักษร บางชนิดมีขนพู่กันแข็งและสั้นกว่าพู่กันกลม ช่วงปลายโลหะมีลักษณะแบนเพื่อความสะดวกในการเขียนเส้นขนาดเล็กและใหญ่สลับ กันอย่างต่อเนื่อง พู่กันแบนมีหลายขนาดตั้งแต่เบอร์ 1 ถึง 24
3.2.2 แปรงทาสี เป็นวัสดุที่มีขนแปรงแข็งด้ามสั้น ใช้กับงานพื้นที่กว้าง ๆ งานที่ไม่ต้องการรายละเอียดมากนัก แปรงทาสีมีตั้งแต่ขนาดความกว้าง 1 นิ้ว ถึง 3 นิ้ว ปัจจุบันหากเป็นพื้นที่กว้างมาก ๆ เช่น ผนังตึก กำแพง แผ่นไม้อัด มักจะใช้ลูกกลิ้งสีจะทำได้กว่าเร็วและสีเรียบกว่าการใช้แปรงทาสี
4. วัสดุอื่น ๆ
วัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในงานกราฟิกมีหลายชนิด เช่น ไม้ฉากชุด ไม้ที มีดตัดกระดาษ กาวน้ำ กระดาษกาว เทปกาว กรรไกร ไม้บรรทัด เป็นต้น
ภาพการ์ตูน
การ์ตูนเป็นภาพที่นิยมนำมาใช้ประกอบสื่อทัศนวัสดุต่าง ๆ ทั้งในวงการการศึกษา ธุรกิจ การค้า โฆษณาและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ มีทั้งการ์ตูนแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวทำให้สื่อเหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นความสนใจผู้ชมได้ดี
1. ความหมายของการ์ตูน
การ์ตูนเป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า “Cartoon” สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาลีว่า “Cartone” (คาโทเน) หมายถึง แผ่นกระดาษที่มีภาพวาด ต่อมาความหมายของคำนี้อาจเปลี่ยนไปเป็นภาพล้อเลียนเชิงขบขัน เปรียบเปรย เสียดสี หรือแสดงจินตนาการฝันเฟื่อง
วิททิชและชูเลอร์ (Wittich and Sehuller, 1973, หน้า 126) ให้ความหมายว่า การ์ตูนเป็นภาพหวัดที่สะท้อนลักษระบุคคลหรือภาพที่มีลักษณะ
สีที่ใช้ในงานกราฟิกมีหลายชนิด สามารถจำแนกได้หลายวิธีคือ จำแนกตามคุณสมบัติของวัตถุที่ใช้ผสม จำแนกตามลักษณะการใช้งาน และจำแนกตามคุณสมบัติทาง

เป็นงานออกแบบ ดังนั้นการ์ตูนจึงมิใช่ภาพเหมือนธรรมชาติจริง แต่เป็นภาพที่มีลักษณะหยาบ ๆ ที่สามารถบอกได้ว่าเป็นภาพอะไร
วัฒนะ จูฑะวิภาต (2523, หน้า 36) กล่าวว่า การ์ตูนคือภาพสนุกหรือภาพล้อที่ทำให้ผู้ดูเกิดอารมณ์ขัน ภาพเหล่านั้นอาจเป็นภาพสัญลักษณ์หรือตัวแทนบุคคล ความคิด หรือสถานการณ์ที่ทำขึ้นเพื่อจูงใจ และให้ความคิดแก่ผู้ดู ลักษณะประจำตัวที่ดีของการ์ตูนคือการแสดงที่ให้เห็นเพียงแนวคิดเดียว อาจเป็นภาพเสียดสี ล้อเลียน บางครั้งภาพเหล่านั้นเป็นความคิดฝันที่เกิดความจริง ภาพเหล่านี้จะเห็นอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ซึ่งครูสามารถนำภาพเหล่านั้นมาใช้ประกอบการสอนวิชาต่าง ๆ ได้ดี
สรุปได้ว่า การ์ตูนหมายถึง ภาพลายเส้นหรือภาพวาดที่มีลักษณะผิดเพี้ยนจากความจริง แต่ก็ยังยึดหลักเกณฑ์ของความจริงอยู่บ้าง เขียนขึ้นมาเพื่อการสื่อความหมายมุ่งให้เกิดอารมณ์ขันด้วยการล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน
การ์ตูน เมื่อถูกนำมาใช้ในงานลักษณะต่างกันจะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น โคมิก (comic ) หรือ คาริคาเตอร์(caricature) หรืออิลลัสเตรท เทล ( illustrated tale) เป็นต้น
โคมิก หมายถึง การ์ตูนเรื่องที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันหลายภาพ อาจเป็นตอน ๆ ละ 2-4 ภาพหรือมากกว่า เรียกว่า การ์ตูนเป็นตอน (comic strip) ถ้าการ์ตูนเรื่องมีความยาวเป็นเล่มๆ เรียกว่า หนังสือการ์ตูน (comic book) ลักษณะของภาพการ์ตูน โคมิก จะไม่เน้นความสมจริงของสัดส่วน แต่เน้นที่อารมณ์ขันจากเนื้อเรื่อง หรือภาพล้อเลียนที่มีสัดส่วนผิดปกติจากธรรมชาติไป
คาริคาร์เตอร์ มาจากรากศัพท์เดิมคือ Caricare ซึ่งหมายถึง ภาพล้อเลียนที่แสดงถึง การเปรียบเปรย เสียดสี เยาะเย้ย ถากถาง หรือให้ดูขบขันโดยเน้นส่วนด้อยหรือส่วนเด่นของ ใบหน้าตลอดจนบุคลิกลักษณะให้แตกต่างไปจากธรรมชาติที่เป็นจริง ส่วนมากมักใช้เป็นภาพล้อทางการเมือง บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง
อิลลัสเตรท เทล หมายถึง นิยายภาพ เป็นการเขียนเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นภาพที่มีลักษณะสมจริงมีส่วนใกล้เคียงกับหลักกายวิภาค ฉากประกอบและตัวละครมีแสงเงา การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านให้คล้อยตามได้เป็นอย่างดี
2. การ์ตูนกับการเรียนการสอน
นักจิตวิทยาและนักการศึกษามีความเห็นพ้องต้องกันว่า ภาพการ์ตูนมีความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการ์ตูนมีคุณสมบัติพิเศษในการดึงดูดความสนใจของเด็กอย่างเห็น ได้ชัด ความสะดุดตาของการ์ตูนจะทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้น ไม่เบื่อง่าย การใช้ ข้อความที่มีภาพประกอบ จะได้รับความสนใจดีกว่าการใช้ข้อความเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบันการ์ตูนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งกับการเรียนการสอนและได้กลายเป็นสื่อการสอนที่ดีทำให้เด็ก ๆ ชอบ เพราะการ์ตูนให้ความบันเทิง ตลกขบขัน สื่อความหมายให้เข้าใจ ได้ง่าย การ์ตูนจึงถูกนำมาใช้กับสื่อการสอนต่าง ๆ เช่น แผนภูมิ แผนภาพ แผ่นโปร่งใส ภาพโปสเตอร์ การจัดนิทรรศการ เป็นต้น การ์ตูนที่นำมาใช้กับการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้คือ สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน เป็นภาพตลกขบขัน ให้แง่คิดในทางที่ดี เป็นภาพง่าย ๆ ใช้เส้นไม่มาก ลากได้รวดเร็ว มีลักษณะเด่น สวยงาม สะอาดตาทำให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจ
3. รูปลักษณะของการ์ตูน
ภาพการ์ตูนที่นำมาใช้กับสื่อการเรียนการสอนในปัจจุบันมี 3 ลักษณะได้แก่ การ์ตูนโครงร่างหรือการ์ตูนก้านไม้ขีด การ์ตูนล้อเลื่อนของจริงและการ์ตูนเลียนของจริง
3.1 การ์ตูนโครงร่างหรือการ์ตูนก้านไม้ขีด (match - stick type) เป็นการ์ตูนอย่างง่ายที่เขียนโดยใช้เส้นเดี่ยว ๆ แสดงลักษณะท่าทางของสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจผิดเพี้ยนไปจากของจริง แต่ใช้เพื่อความรวดเร็วในการเขียน เหมาะสำหรับใช้เขียนประกอบการสอนโดยเขียนลงบนกระดานดำ หรือเขียนบนสื่ออื่น ๆ ได้
3.2 การ์ตูนล้อเลียนของจริง (cartoon type) เป็นภาพที่เขียนบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง แต่ยังคงลักษณะเดิมของต้นแบบหรือของจริงไว้ เน้นลักษณะเด่นๆ โดยมีจุด มุ่งหมายจะล้อเลียนให้เกิดอารมณ์ขัน การ์ตูนแบบนี้จะพบเห็นได้ทั่วไปในการล้อเลียนนักการเมืองและบุคคลในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพโฆษณา
3.3 การ์ตูนเลียนของจริง (realistic type) เป็นการ์ตูนที่มีลักษณะและสัดส่วนคล้ายกับของจริงตามธรรมชาติ ทั้งสัดส่วน รูปร่าง ท่าทาง และสภาพแวดล้อม แต่ไม่ถึง กับเป็นภาพวาดเหมือนจริง มีการตัดรายละเอียดที่ไม่ต้องการออกไปเพื่อให้ดูง่ายและสื่อความ หมายได้ความรู้สึกแตกต่างไปจากภาพเหมือนจริงทั่วไป
4. เทคนิคการเขียนภาพการ์ตูน
เทคนิคการเขียนภาพการ์ตูนประกอบด้วยการเขียนภาพการ์ตูนลายเส้นธรรมดา การวาดภาพการ์ตูนเรื่องและการใช้สีไม้กับการ์ตูน
4.1 การเขียนภาพการ์ตูนลายเส้นธรรมดา ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการ์ตูนเป็นภาพเขียนผิดเพี้ยนไปจากรูปปกติธรรมดาเน้นให้เกิดอารมณ์ ขบขันจากการบิดเบี้ยวของเส้น สี รูปร่าง รูปทรง ไม่เน้นความเหมือนจริงตามธรรมชาติ การฝึกเขียนการ์ตูนเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยเขียนมาก่อน ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้
ความเชื่อมั่นในตนเอง ควรระลึกอยู่เสมอว่าการเขียนภาพให้ผิด เพี้ยนบิดเบี้ยวไปจากธรรมชาติย่อมเขียนได้ง่ายกว่าการเขียนภาพเหมือนจริง เพราะไม่ต้องกังวลกับความถูกต้องของสัดส่วนต่าง ๆ แบบภาพเหมือนจริง ในความเป็นจริงเราอาจเขียนภาพให้บิดเบี้ยว (distortion) หรือภาพแบบนามธรรม (abstract) ก็ได้
วัสดุเขียน การใช้วัสดุเขียนที่ถาวรไม่สามารถลบได้ เช่น ปากกาลูกลื่น หรือ ปากกาหมึกซึม จะช่วยให้ผู้เรียนเขียนอย่างระมัดระวังใจจดใจจ่อ ไม่ควรใช้ดินสอกับยางลบ เนื่องจากการลบเป็นเหตุให้ขาดความตั้งใจ การเขียนภาพด้วยปากกาหากเส้นหรือรูปร่างบิดเบี้ยวไป ควรปล่อยให้เบี้ยวอยู่เช่นนั้นตลอดไป เพราะการบิดเบี้ยวเป็นคุณสมบัติที่ดีของการ์ตูน ซึ่งก่อให้เกิด อารมณ์ขันได้เป็นอย่างดี
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเส้น เส้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการเขียนการ์ตูน เส้นที่มีลักษณะสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะให้ความรู้สึกมั่นคง มีจุดหมายแน่นอน เมื่อเขียนรูปภาพด้วยเส้นลักษณะนี้ก็จะทำให้รูปภาพมีความมั่นคงและชัดเจนไปด้วย
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของการเรียนรู้ การเลียนแบบ (imitation) เป็นวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์อีกรูปแบบหนึ่งที่จะนำไปสู่การสั่งสมประสบการณ์แล้วเก็บไว้เพื่อเป็น พื้นฐานในการแปลความสิ่งเร้าที่จะรับรู้และเรียนรู้เรื่องใหม่ต่อไป การเลียนแบบจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการลอกแบบ (copy) อย่างสิ้นเชิง
การถ่ายทอดจินตนาการเป็นรูปภาพโดยขาดทักษะประสบการณ์จะทำให้เกิดความอึดอัดมึนงงคิดไม่ออก เมื่อเขียนภาพออกมาแล้วมักจะไม่ได้ดั่งใจต้องการ ในที่สุดจะอ่อนล้า ท้อถอยอาจเป็นเหตุให้เบื่อการเขียนภาพไปเลย วิธีแก้ไขควรใช้กระบวนการเรียนตามธรรมชาติ โดยการสังเกตภาพการ์ตูนแล้วลงมือเขียนตามสภาพจริงและตกแต่งได้ตามความคิดและจินตนาการ
การ์ตูนแสดงพฤติกรรมได้ 2 ส่วนได้แก่ ส่วนใบหน้า แสดงอารมณ์ต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ ตกใจ และส่วนลำตัว แสดงอารมณ์กิริยาท่าทางต่างๆ เช่น เดิน นอน วิ่ง กระโดด เล่นกีฬา แบกหาม การฝึกเขียนภาพการ์ตูนอาจฝึกทีละส่วนแล้วนำมาประกอบกัน หรือเขียนกิริยาท่าทางให้ได้แล้วจึงฝึกเขียนอารมณ์ทางใบหน้าก็ได้ และโปรดจำไว้ว่าการหมั่นฝึกสังเกตผลงานการ์ตูนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นนักเขียนการ์ตูนที่ดีมีความสามารถในการสร้างสื่อการเรียนการสอนประเภทวัสดุกราฟิกได้ด้วยตนเอง
4.2 การวาดภาพการ์ตูนเรื่อง หลังจากผู้เรียนมีประสบการณ์ในการฝึกเขียนภาพการ์ตูนแบบทีละรูปด้วยปากกา จนมีทักษะและมีความมั่นใจแล้ว ผู้เรียนควรพัฒนาประสบ การณ์และความมั่นใจให้สูงขึ้นไปตาม ลำดับด้วยการสร้างสรรค์ภาพการ์ตูนเป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาซับซ้อนมากขึ้นโดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
ให้ผู้เรียนแต่ละคนศึกษาภาพการ์ตูนหลาย ๆ ภาพ จากแหล่งต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูนเด็ก ภาพโฆษณา กล่องสินค้า ฯลฯ แล้วนำมาวาดรวมกันด้วยปากกาเป็นเรื่องราวในกรอบเดียวกันจัดภาพให้ดูสวยงาม ตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของแต่ละคน
การจัดภาพที่มีลักษณะซ้อนบังกัน ซึ่งควรมีขั้นตอนการเขียนตาม ลำดับคือ การเขียนฉากหน้า(foreground) ฉากกลาง(middle ground) และฉากหลัง (background)
เมื่อผู้เรียนฝึกเขียนการ์ตูนเรื่องราวเสร็จแล้ว แต่ละคนสามารถประเมินตนเองได้โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินการวาดภาพการ์ตูนลายเส้นในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ลักษณะของเส้นที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจไม่มีการขีดเส้นซ้ำไปซ้ำมา ขนาดของตัวละครไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป บุคลิกและอารมณ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง การจัดองค์ประกอบภาพแสดงการซ้อนบังกันของวัตถุทำให้มีมิติตื้นลึกได้ ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอด โดยแต่ละหัวข้อกำหนดเป็นค่าคะแนน ดังตารางที่ 10.1

4.3 การใช้สีไม้กับการ์ตูน สีไม้เป็นสีแห้งมีคุณสมบัติเหมือนดินสอทั่วไป แต่มีหลายสีสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เป็นสีที่ใช้งานได้อย่างง่ายดายไม่ต้องผสมกับวัสดุใด ๆ เพียงแต่เหลาปลายให้แหลมก็ระบายสีได้ทันที การระบายสีการ์ตูนด้วยสีไม้ให้ดูสวยงามมีวิธีการดังนี้
4.3.1 การจำแนกสี เป็นการจัดสีเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ สีวรรณะร้อน และสีวรรณะเย็น
กลุ่มสีวรรณะร้อน ประกอบด้วยสีเป็นชุด ๆ ได้แก่ แดง-ส้ม-เหลือง น้ำตาล-แดง-ส้ม ดำ-น้ำตาล-แดง
กลุ่มสีวรรณะเย็น ประกอบด้วยสีเป็นชุด ๆ ได้แก่ เขียวแก่-เขียวอ่อน-เหลือง น้ำเงิน-เขียวแก่-เขียวอ่อน ดำ-น้ำเงิน-เขียวแก่
กลุ่มสีอื่น ๆ เป็นสีที่ไม่อยู่ในวรรณะใดวรรณะหนึ่งโดยเฉพาะ สามารถใช้ได้กับสีวรรณะใดก็ได้ได้แก่ แดง-ม่วง-น้ำเงิน ฟ้า-ชมพู
4.3.2 การระบายสีไม้ การระบายสีการ์ตูนให้สวยงามด้วยสีไม้มีเทคนิค ดังนี้ การระบายสีบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่มีขอบเขตเดียวกันควรระบายสีเป็นชุด เช่น ใบไม้ 1 ใบ อาจระบายด้วยสีชุด ดำ-แดง-ส้ม หรือ น้ำเงิน-เขียวแก่-เขียวอ่อน หรือ น้ำตาล-แดง-ส้ม ก็ได้ขึ้นอยู่กับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน
ช่วงรอยต่อแต่ละสี ควรระบายให้กลมกลืนกันอย่างสนิท โดยการเกลี่ยระบายแต่ละสีให้ทับซ้อนกันอย่างแผ่วเบา ดังนั้นรอยต่อของสีแต่ละสีไม่ควรตัดกันเหมือนขนมชั้น
ควรเหลาไส้สีไม้ให้แหลมคมอยู่เสมอ และขณะระบายควรตั้งสีไม้ให้ตรงประมาณ 85-90 องศา จะทำให้ได้สีสดใสแจ่มชัดกว่าปลายไส้ไม่แหลมและการวางแท่งสีไม้แบบเอียง ๆ
การระบายสีให้ดูสดใสโดดเด่นได้สีอิ่มเต็มที่ ควรระบายประมาณ 2-3 รอบ โดยระบายรอบแรกให้แผ่วเบาและค่อยๆ เน้นหนักในรอบที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
เมื่อระบายสีเสร็จแล้ว ผู้เรียนสามารถประเมินผลด้วยตนเองได้โดยอาศัย ตารางการประ เมินผลการวาดระบายสีการ์ตูนด้วยสีไม้เป็นแนวทาง
5. ประโยชนของการเขียนภาพการ์ตูน ดังได้กล่าวแล้วว่าการ์ตูนมีความสำคัยต่อเด็กและการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าศึกษา ในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าการเขียนภาพการ์ตูน เป็นกิจกรรมที่พัฒนาความสามารถของผู้เรียนได้ในทุกด้านดังต่อไปนี้
5.1 ด้านร่างกาย กิจกรรมการเขียนภาพการ์ตูนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับประสาทตาได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนภาพแบบโครงร่างของนอก (contour dawing) เป็นการฝึกเพื่อเชื่อมโยงการรับรู้สู่การสัมผัสและถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรม เมื่อฝึกฝนจนชำนาญก็จะมีประโยชน์ในการปฏิบัติงานในลักษณะนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว
5.2 ด้านอารมณ์ กิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้มีบรรยากาศแห่งความสำเร็จ ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ อารมณ์ดี จิตใจผ่องใส การเขียนภาพการ์ตูนเป็น กิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จได้ง่าย เนื่องจากการ์ตูนเป็นภาพอิสระสามารถเขียนให้บิดเบี้ยวได้โดย ไม่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนเหมือนจริง เพราะโดยธรรมชาติของภาพการ์ตูนยิ่งบิดเบี้ยวมากเพียงใดก็ยิ่งกระตุ้น อารมณ์ขันได้มากถึงเพียงนั้น
5.3 ด้านสังคม กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนมีโอกาสแสดงออก ช่วยกันสรุปประเด็นต่างๆ เป็นส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมไปในตัว การปฏิบัติงานเขียนภาพการ์ตูน ผู้เรียนมีอิสระเดินไปมาได้ ขณะเดียวกันได้ชื่นชมผลงานของเพื่อน ๆ อาจมี การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
5.4 ด้านสติปัญญา กิจกรรมการเขียนการ์ตูนส่งเสริมความสามารถผู้ เรียนด้านสติปัญญาได้มาก เริ่มตั้งแต่การรู้จักสังเกต ความเข้าใจเนื้อหาบทเรียน การเรียนรู้องค์ประกอบสำคัญและวิธีการวาดภาพการ์ตูนให้มีประสิทธิภาพ การเรียนรู้ความสัมพันธ์ของวัสดุที่ใช้ขีดเขียนกับความตั้งใจอย่างจดจ่อ และเรียนรู้ถึงความจริงที่เป็นธรรมชาติของการ์ตูน การ์ตูนต้องเป็นภาพ บิดเบี้ยวไม่เหมือนจริงซึ่งใคร ๆ ก็สามารถฝึกเขียนได้ เป็นวิธีคิดที่ไม่ติดยึดกับความกังวลกันเป็นผลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้นั่นเอง นอกจากนี้การเขียนการ์ตูนยังทำให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะสื่อภาพออกมาให้น่ารักสวยงามหรือมีอารมณ์ขันอีกด้วย
ตัวอักษร
ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัสดุกราฟิกที่สามารถสื่อความหมายได้ด้วยการอ่านของผู้เรียน ตัวอักษรประดิษฐ์มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรมาตรฐานที่ใช้ในเอกสารทางราชการหรือตำราเรียนทั่วไป มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความสนใจทำให้รับรู้ได้ชัดเจน และเน้นสาระสำคัญ การประดิษฐ์ตัวอักษรสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การประดิษฐ์ด้วยมือโดยตรง และการใช้เครื่องมือหรือวิธีการอื่น ๆ ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้
1. การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยมือโดยตรง
เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เพียงใช้วัสดุสำหรับเขียน เช่น พู่กัน ดินสอ ปากกา ขีดเขียนลงบนวัสดุรองรับได้เลย แต่การประดิษฐ์ตัวอักษรโดยวิธีนี้ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ จึงจะเกิดความชำนาญ
1.1 การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพู่กันแบน พู่กันแบนเป็นวัสดุเขียนที่มีขนแปรง อ่อนนิ่มมีประโยชน์ในการใช้งานอย่างกว้างขวาง สามารถใช้เขียนได้กับวัสดุรองรับแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกระดานโลหะ พลาสติก ไม้ ผนังปูน การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพู่กันแบนสามารถเขียน ตัวอักษรได้ทั้งแบบพับผ้าและแบบเส้นคู่ขนาน
การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพู่กันแบนให้ได้ผลดีมีวิธีการดังนี้คือ นั่งตัวตรงตามสบาย ไม่ให้ลำตัวชิดกระดาษมากเกินไป วางกระดาษให้ตรงกับขอบโต๊ะและค่อนไปทางขวามือเล็กน้อย หลังจากจุ่มสีแล้ว จับพู่กันให้กระชับมือเหมือนจับปากกาทั่ว ๆ ไป ตั้งพู่กันประมาณ 80 – 90 องศา ให้สันมือเป็นส่วนสัมผัสกระดาษ ลากพู่กันด้วยการเคลื่อนไหวข้อศอกกับหัวไหล่ การลากพู่กันควรลากจากบนลงล่างและซ้ายไปขวา การลากเส้นควรลากด้วยอิริยาบถสบาย ๆ ไม่ควรเกร็งนิ้วหรือแขน การเขียนคำหรือประโยคควรชำเลืองดูตัวอักษรซ้ายมือเสมอ การสังเกตเส้นสี ถ้าเส้นขาด ๆ หาย ๆ เป็นเส้นแตก แสดงว่าสีข้นเกินไป แต่ถ้าเส้นที่บางใสปลายเส้นมีน้ำนองแสดงว่าสีเหลวเกินไป อย่างไรก็ตามผู้เรียนต้องหมั่นฝึกฝน สังเกตและปรับปรุงให้ได้ผลงานที่ดีอยู่เสมอ
1.2 การประดิษฐ์ตัวอักษรหัวเรื่อง ตัวอักษรหัวเรื่องมีประโยชน์ในการสรุปเนื้อหาเป็นข้อความสั้น ๆ กระชับ กระตุ้นความสนใจด้วยความหมายที่ทำให้ฉงนสนเท่ห์ แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทั้งหมดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ลักษณะตัวอักษรหัวเรื่องมี 2 แบบ ได้แก่ แบบเส้น คู่ขนาน และแบบบรรทัด 6 เส้น
แบบเส้นคู่ขนาน มีขั้นตอนในการทำอย่างง่าย ๆ โดยการลากเส้นแกนเป็นข้อความด้วยตัวอักษรธรรมดา ให้มีขนาดใหญ่และช่องไฟห่างกว่าปกติมาก ๆ เสร็จแล้วลากเส้นขนานเส้นแกนตลอดแนวตัวอักษรแต่ละตัวจนครบถ้วน จากนั้นจึงเป็นขั้นการตกแต่งให้สวยงาม ดังภาพที่ 10.9
แบบบรรทัด 6 เส้น มีวิธีประดิษฐ์ให้สวยงามได้โดยอาศัยบรรทัดทั้ง 6 เส้น และช่อง 5 ช่องสำหรับบรรจุตัวอักษร การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยวิธีนี้ต้องใช้แบบหรือฟอนท์ (font) จากคอมพิวเตอร์หรือชิ้นงานสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นแม่แบบในการประดิษฐ์หรือฝึกฝน ผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือขาดประสบการณ์ในการออกแบบควรหลีกเลี่ยงการคิดหรือการประดิษฐ์เอง โดยไม่ใช้แบบตัวอย่าง เพราะอาจทำให้ได้ตัวอักษรที่ไม่ได้สัดส่วนที่ดี ดูแล้วไม่สวย อาจทำให้หมดกำลังใจหรือมีเจตคติคติไม่ดีต่อการออกแบบงานกราฟิก การประดิษฐ์ตัวอักษรหัวเรื่องด้วยบรรทัด 6 เส้น มีขั้นตอนดังภาพที่ 10.10

ขั้นที่ 5 ในกรณีที่ต้องการให้ตัวอักษรดูพลิ้วไหว อ่อนหวาน ให้ร่างเส้นบรรทัดเป็นแนวตามต้องการเสียก่อน แล้วจึงออกแบบตัวอักษรให้เคลื่อนไปตามทิศทางของเส้น
2. การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยเครื่องมือ
เครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ตัวอักษรมีหลายชนิดนับตั้งแต่เครื่องมือพื้นฐาน เช่น เท็มเพลท (template) ตัวอักษรลีรอย (leroy) ตัวอักษรลอกหรือเล็ตเตอร์เพรส (letter press) จนถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ตัวอักษร มีดังนี้
2.1 เท็มเพลท เป็นแบบตัวอักษรที่เจาะทะลุเป็นตัว ๆ บนแผ่นพลาสติกบาง ๆ ตัวอักษรมีหลายขนาด เมื่อต้องการใช้ก็วางตัวอักษรบนเท็มเพลทให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ
แล้วร่างดินสอหรือปากกาตามแบบตัวอักษรดังกล่าว จึงนับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ได้ง่ายที่สุด
2.2 ตัวอักษรลีรอย เป็นร่องตัวอักษรบนไม้บรรทัด การใช้งานต้องใช้คู้กับเครื่องเขียน ตัวอักษรลีรอย หรือที่เรียกว่า ก้ามปู โดยใช้ขาก้ามปูลากไปตามร่องตัวอักษร ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของก้ามปูจะยึดปากกาเขียนแบบไว้อย่างแน่นกระชับก็จะเคลื่อนเป็นรูปตัวอักษรตามขาของก้ามปูที่เคลื่อนไปตามร่องแบบตัวอักษร
2.3 เล็ตเตอร์เพรส เป็นตัวอักษรบนแผ่นพลาสติกมีหลายแบบหลายขนาด สามารถลอกติดกระดาษได้อย่างง่ายดาย
ปัจจุบันเครื่องพื้นฐานเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนในอดีต เพราะมีเครื่องมือหรือวิธีใหม่ ๆ ที่ที่มีประสิทธิภาพในการประดิษฐ์ตัวอักษรได้ดียิ่ง
2.4 เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องที่มีประโยชน์ในการใช้งานแทบทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะการออกแบบกราฟิกคอมพิวเตอร์สามารถตอบสนองจิตนาการ หรือความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด แม้ผู้ที่ขาดทักษะการประดิษฐ์ตัวอักษรก็สามารถออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่มีความรู้พื้นฐานในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยว ข้องกับงานกราฟิกก็สามารถผลิตงานกราฟิกได้อย่างสวยงาม เช่น โปรแกรมอีลลาสเตรเตอร์ โปรแกรม พาวเวอร์พอยท์ ดังภาพที่ 10.12 โปรแกรมโฟโต้ช็อฟ
บทสรุป
งานกราฟิกเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพและตัวอักษรเพื่อการสื่อความหมายและเป็นพื้นฐานการออกแบบตกแต่งสื่อประเภททัศนวัสดุทุกชนิด ในการผลิตงานกราฟิกนอกจากต้องคำนึงถึงองค์ประกอบศิลป์ แล้วยังต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ในงานกราฟิก เช่น กระดาษ ดินสอ สี พู่กันประกอบด้วย งานกราฟิกที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนได้แก่ รูปภาพและตัวอักษร รูปภาพที่ประดิษฐ์ได้ง่ายและช่วยกระตุ้นความสนใจได้ดี ได้แก่ ภาพการ์ตูน ซึ่งเป็นภาพเขียนที่ผิดเพี้ยนไปจากภาพปกติ เน้นให้เกิดอารมณ์ขัน ผู้เขียนภาพไม่ต้องกังวลเรื่องความถูกต้องเหมือนจริง ทั้งภาพการ์ตูนและตัวอักษรสามารถประดิษฐ์ได้ด้วยมือโดยตรงและการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งมีเทคนิควิธีและต้องการการฝึกฝนจนชำนาญจึงจะใช้งานได้ดี